โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases)

เนื่องจากวันนี้ คือ วันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันหลอดเลือดอุดตันโลก (World thrombosis day) จึงขอเอ่ยถึงโรคนี้กันสักหน่อย

โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases)

จากข้อมูลสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลสถิติ ขององค์การอนามัยโลกในปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 7.2 ล้านคน (12.2% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ปี 2548-2552)
โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดง ที่เกิดจากการอักเสบและการสะสมของ ไขมันหลอดเลือดจนเกิดภาวะหลอดเลือดเเข็ง (atherosclerosis) ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจและอวัยวะสำคัญต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอ ผู้ที่มีระดับไขมันสูงโดยเฉพาะ LDL-C จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย LDL-C จะซึมผ่านผนังหลอดเลืือดแดงชั้นใน ภาวะ oxidative stress หรือ อนุมูลอิสระจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด oxidized LDL-C ที่เกิดขึ้นจะไปเหนี่ยวนำให้เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (monocyte) ผ่านเข้ามาในผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงและเปลี่ยนเป็นเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage) เพื่อมาจับกินสิ่งแปลกปลอมในเซลล์ ได้แก่ oxidized LDL-C ทำให้เกิด foam cell ขึ้น และมีการหลั่งสาร cytokines ต่างๆออกมาทำให้เกิดการอักเสบ

การสะสมไขมันใน foam cell ถือเป็นร่องรอยของโรคบนผิวชั้นในของหลอดเลือดแดง และที่เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเรียกว่า fatty streaks ซึ่งการสะสมของไขมันในปริมาณทีี่มากเกินไปจะทำให้ foam cell แตกและตาย เกิดการตอบสนองของร่างกายโดยกระตุ้นให้มีการเคลื่อนย้ายของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบจากผนังหลอดเลือดชั้นกลางขึ้นมายังผนังหลอดเลือดชั้นใน (smooth muscle migration) และมีการสร้างเส้นใยคอลลาเจนขึ้นมาห่อหุ้มและคลุมส่วนที่เป็นไขมันไว้ มีรูปร่างคล้ายหมวกคลุม (fibrous cap) ทำให้หลอดเลือดหนาตัวขึ้นจากตะกรันไขมันที่สะสม



ภาพจาก http://www.medscape.org/

ผลการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเกิดตะกรันสามารถเกิดได้ 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีที่ตะกรันหนาตัวมากขึ้นจนทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงมีผลให้เลือดไปเลี้ยงไปเลี้ยงอวัยวะน้อยลง และ 2) กรณีที่ตะกรันในส่วนที่เป็นหมวกคลุมเกิดการปริหรือแตก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญเนื่องจากพบได้บ่อยและมักจะมีความรุนแรงกว่ากรณีแรก โอกาสที่จะเกิดการปริหรือการแตกขึ้นกับความแข็งแรงของตะกรัน หากตะกรันในตำแหน่งใดบางหรือมีการอักเสบมากก็จะมีโอกาสแตกได้ง่ายกว่า และเมื่อตะกรันเกิดการปริหรือแตกจะกระตุ้นการทำงานของเกร็ดเลือดและกระบวนการแข็งตัวของเลือด เกิดลิ่มเลือดขึ้นภายในหลอดเลือดเป็นผลให้หลอดเลือดแดงตำแหน่งนั้นตีบหรืออุดตันและนำไปสู่ ภาวะเส้นเลืือดอุดตันในสมอง (stroke) และภาวะหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction)

จากงานวิจัย พบว่า ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของภาวะ oxidative stress, oxidized LDL-C และ  inflammatory status ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยภาวะ oxidative stress เป็นภาวะที่ร่างกายเกิดความไม่สมดุลกันระหว่างอนุมูลอิสระ (free radical) และสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) กล่าวคือ ภาวะที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากเสียจนสารต้านอนุมูลอิสระมีไม่เพียงพอ และจากสาเหตุดังกล่าวส่งผลให้เกิดการทำลายดีเอ็นเอ โปรตีน ไขมัน และโมเลกุลขนาดเล็กอื่นๆ โดยการทำงานดังกล่าวจัดเป็น oxidative damage ซึ่งโมเลกุลเป้าหมายที่เกิด oxidative damage จะแตกต่างกันไปขึ้นกับลักษณะของเซลล์ ถ้าในเซลล์ของหลอดเลืือดมีภาวะ oxidative stress ก็จะส่งผลให้อนุมูลอิสระที่มีมากไปทำปฏิกิริยา oxidation กับ LDL-C เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิด oxidized LDL-C เพิ่มขึ้น การเกิด foam cell ก็จะมีมากขึ้น ความเสี่ยงตอการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็จะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ในภาวะที่ร่างกายมีการหลั่ง cytokines ที่มำให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น เช่น TNF- และ IL-6 ก็จะส่งผลกระตุ้นการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลืือดให้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน 


ขอขอบคุณข้อมูลจากเอกสารประกอบการสอนของ ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม