โรคลมพิษ

ช่วงนี้อยู่ดีๆผู้เขียนก็เป็นลมพิษบ่อยๆค่ะ อาจเนื่องจากผู้เขียนมีความเครียดสะสม ภูมิคุ้มกันต่ำลง หรืออาจเนื่องจากทานอาหารที่ไม่ค่อยได้ทานเลยเกิดอาการนี้ขึ้นมา ผู้เขียนเลยอยากเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรคนี้ค่ะ

โรคลมพิษ (Urticaria)
เป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดต่างๆ ได้ ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ มีอาการคัน เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขนขา แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม (Angioedema) บางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ก็พบน้อยมาก

สาเหตุของโรคลมพิษ
1. อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
2. ยา ปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นลมพิษได้
3. การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ เป็นสาเหตุของลมพิษได้ทั้งสิ้น
4. โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอย์
5. อิทธิพลทางกายภาพ ผู้ป่วยบางราย ผื่นลมพิษอาจเป็นผลจากปฏิกริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด การออกกำลังกาย เป็นต้น
6. การแพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยา (Iatex) ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น
7. ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้ง ต่อต่อย
8. มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
9. ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
10.สาเหตุอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคลูปัสหรือ ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบบางรายอาจมีผื่นลมพิษแต่มีข้อสังเกต คือ แต่ละผื่นอยู่นานมักเกิน24 ชั่วโมง เวลาหายมักมีรอยดำ

ผู้ป่วยลมพิษจำนวนมาก แม้ว่าแพทย์จะได้พยายามตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว แต่ก็ยังหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่มากพอที่จะอธิบายหาสาเหตุได้ทั้งหมด
ผู้ป่วยลมพิษจึงควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งหากพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดลมพิษและหลีกเลี่ยงหรือรักษาสาเหตุนั้นได้ จะทำให้โรคลมพิษสงบลงหรือหายขาดได้


การรักษาโรคลมพิษ
1. พยายามหาสาเหตุ และรักษาหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ ถ้าทำได้
2. ให้ยาต้านฮีสตามีน ยาต้านฮีสตามีนมีหลายชนิด หลายกลุ่ม มีทั้งที่ออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว ทั้งที่ง่วงและไม่ง่วง การจะเลือกใช้ยาต้านฮีนตามีนตัวใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ การตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีนในผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยบางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางรายแพทย์อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านฮีสตามีนในกลุ่มอื่น หรือใช้ยาหลายตัวร่วมกัน เพื่อควบคุมอาการ
3. ยาอื่นๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างและหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ

การปฏิบัติตัวในผู้ป่วยโรคลมพิษ
ผู้ป่วยลมพิษที่ผื่นเป็นมาก โดยเฉาะอย่างยิ่งกลุ่มลมพิษเฉียบพลัน ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง มีหน้าบวม ตาบวม ปากบวมอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาการเหล่านี้ เช่น อาการแน่นหน้าอก เกิดจากมีการบวม ของเยื่อบุทางหายใจอาจทำให้เกิดอาการหอบหืด ถึงชีวิตได้

ในผู้ป่วยที่มีเฉพาะผื่นลมพิษที่ผิวหนังควรปฏิบัติตัวดังนี้
- งดสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดเฉพาะผื่นลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- ต้องนำยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอเมื่อเกิดอาการจะได้ใช้ได้ทันที
- ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด
- ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานควรบอกแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา
- อาจใช้ calamine lotion ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย


ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม