รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้ กับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

ตอนนี้ไม่เอ่ยถึงอีโบล่าคงไม่ทันสื่อ วันนี้ผู้เขียนขอเบรกเรื่องความแก่มาเขียนถึงอีโบลาก่อนค่ะ
ตามภารกิจกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ผู้เขียนมีโอกาสเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่จุดผ่านแดนระหว่างประเทศ สุวรรณภูมิ รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งกับภารกิจนี้

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ประกอบด้วย 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี สายพันธุ์
เรสตัน (Reston) และสายพันธุ์ Bundibugyo โดยสายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี และสายพันธุ์ Bundibugyo ทำให้เกิดการระบาดในแอฟริกาและมีอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 60-90 ในขณะที่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และ สายพันธุ์เรสตัน (Reston) มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงและยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต

การติดต่อ จากคนสู่คน โดยการสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำอสุจิ ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอยที่ลอยในอากาศ

อาการ เป็นไข้เฉียบพลัน อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะและเจ็บคอ ตามด้วยอาเจียน ท้องเสีย ผื่นผิวหนัง ไตและตับทำงานบกพร่อง ในบางรายพบการตกเลือดทั้งภายในและภายนอกและเสียชีวิต

ระยะฟักตัวของโรค หมายถึงระยะเวลานับจากการเริ่มติดเชื้อไวรัสจนถึงเมื่อเริ่มแสดงอาการ ได้แก่ 2 ถึง 21 วัน

การรักษา ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาจำเพาะ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ผู้ป่วยมักมีอาการขาดน้ำจำเป็นต้องให้สารละลายเกลือแร่เพื่อแก้ไขอาการขาดน้ำโดยอาจให้ทางปาก หรือทางเส้นเลือด

สิ่งที่ควรทำ คือ ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธาณสุข เพื่อให้รู้สถานการณ์ และเข้าใจที่ถูกต้องค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข โทร.025903238 และ 025903159






ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม